หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสำราญ
ประวัติความเป็นมา
ความเป็นมาของหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสำราญ หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสำราญ เริ่มจัดตั้งหน่วยเมื่อปี พ.ศ. 2537 ซึ่งในขณะนั้นจัดตั้งขึ้นในฐานะเป็นหน่วยย่อยของหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยแก้ว–ห้วยสำราญ เป็นหน่วยงานในสังกัดส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ กรมป่าไม้ และเมื่อปี พ.ศ. 2539 ได้แยกเป็นหน่วยงานหลักในปีงบประมาณ 2547 ได้มีการปฏิรูประบบราชการ แยกงานที่เกี่ยวกับป่าเศรษฐกิจและงานด้านอนุรักษ์และการคุ้มครองป่าไม้ออกจากกัน โดยให้งานทางด้านป่าเศรษฐกิจอยู่กับกรมป่าไม้ ส่วนงานด้านอนุรักษ์และการคุ้มครอง ให้ไปตั้งเป็นกรมขึ้นมาใหม่ โดยให้อยู่สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระทรวงใหม่ จึงเป็นผลให้หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสำราญ สังกัดสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 8 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจากสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 8 เป็นสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี)โดยมีพื้นที่ คลอบคลุมสวนป่าและพื้นที่ป่าฟื้นฟูระบบนิเวศน์ต้นน้ำ
หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสำราญ ตั้งอยู่ที่พิกัด 48P 0398007 UTM 1595368 มีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัด คือ ท้องที่ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ และตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
หลักการและเหตุผล
หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสำราญ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ภายใต้การมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์
- เพื่อป้องกันดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้
- เพื่อส่งเสริมสนับสนุนงานบริหารของหน่วยจัดการต้นน้ำในพื้นที่รับผิดชอบได้ปฏิบัติหน้าที่บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- พื้นที่ป่าไม้ได้รับการดูแลรักษา
- หน่วยจัดการต้นน้ำได้รับการสนับสนุนงานบริหารในพื้นที่รับผิดชอบได้ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หน้าที่ความรับผิดชอบ
ปฏิบัติงานในด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลำธาร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ตามแผนงานและนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดังนี้
- ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่ถูกทำลาย ให้คืนสภาพและมีลักษณะทางนิเวศน์ที่เหมาะสมต่อการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต่อไป
- ส่งเสริมให้ความรู้ เสริมสร้างจิตสำนึก ให้ชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำและใกล้เคียงเล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ต้นน้ำ และมีส่วนร่วมในการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
- ควบคุม ดูแล ให้คำแนะนำ และประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน ที่เข้าทำประโยชน์บริเวณพื้นที่ต้นน้ำ ดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของต้นน้ำ และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ
- วางแผนการจัดการ พัฒนาและฟื้นฟู พื้นที่ต้นน้ำ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
วิสัยทัศน์ และพันธกิจ (Vision and Mission)
หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสำราญ เป็นหน่วยงานสังกัดส่วนจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ดังนั้น การดำเนินงานได้ยึดตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ดังนี้
วิสัยทัศน์
“ระบบนิเวศหลากหลาย ทุกภาคส่วนร่วมใจ อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้ยั่งยืน”
พันธกิจ
- ปกป้อง ดูแล ฟื้นฟู ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความอุดมสมบูรณ์และสมดุลตามธรรมชาติ
- พัฒนาระบบการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
- ส่งเสริม วิจัย พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืน ภายใต้หลักวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่น
- พัฒนาองค์กร บุคลากร ให้มีขีดสมรรถนะและศักยภาพในการดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่
วัฒนธรรมองค์กร
สามัคคี พิทักษ์ไพร เป็นมิตร จริงใจ เคารพไหว้ อาวุโส
ค่านิยมองค์กร
ร่วมใจทำงาน บนฐานข้อมูล เพิ่มพูนความรู้ คู่คุณธรรม
อัตรากำลัง
ข้าราชการ จำนวน 1 นาย
พนักงานราชการ จำนวน 4 อัตรา
พนักงานจ้างเหมาบริการ จำนวน 4 อัตรา

นางพัณณิตา รัตนวัน
หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสำราญ
พื้นที่รับผิดชอบ
ลุ่มน้ำย่อยห้วยสำราญ
ลุ่มน้ำย่อยห้วยสำราญ ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ อำเภอภูสิงห์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอไพรบึง อำเภอพยุห์ อำเภอวังหิน อำเภอห้วยทับทัน อำเภออุทุมพรพิสัย และอำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ เนื้อที่ประมาณ 2,102,368 ไร่
พื้นที่ต้นน้ำลำธาร มีเนื้อที่ประมาณ 109,688 ไร่ ดังนี้
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา มีพื้นที่ลุ่มน้ำอยู่ในพื้นที่ประมาณ 24,054 ไร่
- พื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน – ห้วยสำราญ มีพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยสำราญ ประมาณ 20,253 ไร่
- ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2504 ประมาณ 65,381 ไร่